01
Mar
15

ช่างเครื่องหนัง 3 คน ก็แข่งกับขงเบ้งได้


Article02  ประวัติศาสตร์จีนส่วนใหญ่ที่เรารับรู้ เป็นประวัติศาสตร์แห่งวีรบุรุษ ที่เชื่อว่าการตัดสินใจและการกระทำของบุคคลๆหนึ่งสามารถบังคับทิศทางประวัติศาสตร์ได้ เช่นถ้าฉินซีไม่รวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง แผ่นดินจีนก็จะไม่มีวันรวมเป็นหนึ่ง ถ้าฉินซีไม่อยากจะปรับมาตรฐานชั่งตวงวัด และการเขียนตัวอักษรให้เป็นหนึ่งเดียว จะไม่มีใครทำ หรือแม้แต่การคิดค้นตะเกียบ จะต้องถูกคิดค้นโดยใครบางคนในประวัติศาสตร์ ซึ่งมักจะโยงกับบุคคลที่มีความสำคัญอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากปัจจัยที่เต็มพร้อมทำให้เกิดขึ้น แต่กลับเป็นเพราะวีรกรรมของใครคนใดคนหนึ่ง แนวคิดนี้ตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์ที่มองว่าการเกิดขึ้นของเหตการณ์สำคัญๆ เป็นเพราะปัจจัยถึงพร้อม มากกว่าอิทธิฤทธิ์ของปัจเจกชน เพราะฉะนั้น ฉินซีฮ่องเต้ที่อยู่ผิดที่ผิดเวลา จะไม่สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

จะว่าไปหลายวัฒนธรรมก็คิดไม่ต่างกัน ที่มักจะยัดเยียดคุณงามความดี และความสามารถมากมายให้กับวีรบุรุษคนใดคนหนึ่ง ถ้าของจีนจะออกไปไกลกว่า ก็คือเมื่อเวลาผ่านไป บุคคลในประวัติศาสตร์มักถูกยกระดับขึ้นให้เป็นเทพเทวดา

เทพในวัฒนธรรมขงจื่อของจีน จึงมักเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ คือ ขงเบ้ง เปาบุ้นจิ้น กวนอู หรืองักฮุย ไม่ใช่เทพแห่งน้ำ แห่งลม เจ้าแม่กาลี หรืออพอลโล่แบบวัฒนธรรมอื่นๆ นี่เป็นลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมขงจื่อของจีนครับ นับถือคนมีคุณธรรม นับถือวีรบุรุษ ไม่นับถือเทพ แต่ด้วยความอ่อนไหวต้องการที่พึ่งที่เหนือธรรมชาติของมนุษย์เดินดิน จึงไม่พ้นต้องอัญเชิญวีรบุรุษทั้งหลายให้เลื่อนขั้นไปเป็นเทพ

และเมื่อยกให้เป็นเทพ ก็ต้องแต่งเติมให้สมบูรณ์แบบผิดมนุษย์มนาในด้านนั้นๆ เช่น ขงเบ้ง ก็ให้เก่งขนาดเรียกลมเรียกฝน หยั่งรู้ดินฟ้าได้ เปาบุ้นจิ้น ก็ต้องมีอิทธิฤทธิ์เดินทางไปสืบคดีความในปรโลกได้ เป็นต้น

คุณงามความดีของวีรบุรุษสุดเทพ จึงมักเป็นคุณความดีแบบสุดโต่ง คติความเชื่อที่ว่ากลุ่มคนธรรมดาจะแผลฤทธิ์ได้บ้าง หรือรวมตัวกันแล้วจะเก่งกว่า ยุติธรรมกว่า ยิ่งใหญ่กว่าหรือดีกว่าอัจฉริยะบุคคล จึงไม่ค่อยมีให้ได้ยินนัก

แต่ก็พอมีเล็ดลอดออกมาให้ประหลาดใจอยู่บ้าง เช่นสำนวนที่ว่า

“ช่างเครื่องหนัง 3 คน ก็แข่งกับขงเบ้งได้”

三个臭皮匠,赛过诸葛亮

  สำนวนนี้ไม่ได้หมายถึงให้ช่างเครื่องหนัง 3 คนแข่งทำเครื่องหนัง หรือแข่งขึ้นต่อยตีกับขงเบ้งกันนะครับ แต่หมายถึงการแข่งขันด้านสติปัญญานี่แหละ ความหมายคือ ไม่ว่าขงเบ้งจะมีสติปัญญาล้ำเลิศและรอบคอบเพียงใด แต่หากต้องมาแข่งขันกับคนที่มีสติปัญญาและความสามารถธรรมดาๆที่ร่วมมือกัน คนธรรมดาๆก็ยังพอจะชนะได้

ทำไมต้องเป็นช่างเครื่องหนัง?

สาเหตุน่าจะเป็นเพราะคำว่า”ช่างเครื่องหนัง”ในภาษาจีน”พ้องเสียงกับคำว่า”รองแม่ทัพ” ที่มาของสำนวนนี้แต่ต้น จึงน่าจะบอกว่า “รองแม่ทัพ 3 คน ก็แข่งกับขงเบ้ง(แม่ทัพ)ได้”มากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นรองแม่ทัพหรือช่างเครื่องหนัง ความหมายของประโยคนี้ก็ยังคงเดิมอยู่ดี คือ เชื่อในการทำงานเป็นทีมและการร่วมมือกันของคนระดับธรรมดา ว่าสามารถที่ขับเคลื่อนองค์กรณ์และโลกไปในทิศทางที่ถูกที่ควร พอๆกับการพึ่งพาเทพ วีรบุษ หรืออัจฉริยะ ฟังดูช่างสอดคล้องกับแนวคิดการบริหารทรัพยากรบุคคลสมัยใหม่

แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ?

ในหนังสือ The Wisdom of Crowds เขียนโดย  James Surowiecki ทำการทดลองและศึกษา พบว่าหากให้ผู้คนจำนวนหนึ่งร่วมกันแก้ปัญหา มักจะได้คำตอบที่ตรงกว่า ดีกว่า หรือผิดพลาดน้อยกว่าให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียว

เช่น ให้ผู้คนที่มาดูงานปศุสัตว์ร่วมกันประมาณน้ำหนักวัว จะได้ตัวเลขที่ใกล้ความจริงมากกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์คนเดียว โดยการทดลองทำหลายๆครั้งระหว่างผู้เข้าชมที่ร่วมมือกัน กับผู้เชี่ยวชาญเดี่ยวๆ แล้วหาค่าเฉลี่ยความใกล้เคียงน้ำหนักจริง

และอีกหลายการทดลองที่เกี่ยวกับการคลี่คลายปริศนา คิดหากรรมวิธีแก้ปัญหา ก็ค้นพบว่า ฝูงชนที่ร่วมมือกัน ผิดพลาดน้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญที่คิดเองเออเองคนเดียวอย่างมีนัยยะสำคัญ

แต่ไม่ใช่ทุกการรวมตัวของคนจำนวนมากจะฉลาดกว่าเสมอไป เหตุการณ์บนโลกที่เรารู้เห็นกันอยู่ หลายต่อหลายครั้งกลับกลายเป็นคนรวมตัวกันจำนวนมาก กลับทำอะไรที่โง่ๆได้ไม่ยาก เช่น เมื่อมวลชนบ้าคลั่งทำลายบ้านเมืองครั้งใหญ่ในการปฎิวัติวัฒนธรรม หรือแม้แต่กลุ่มแมงเม่าในตลาดหลักทรัพย์ที่มักพ่ายแพ้แก่เจ้ามือกลุ่มน้อย เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการทดลองของ James Surowiekcki ไม่ใช่การเข้าวัดผลจากกลุ่มคนโต้งๆ หากแต่ต้องมีเงื่อนไขที่ถูกต้องจึงทำให้กลุ่มคนจำนวนมากแก้ปัญหาได้ดี ซึ่งก็คือ

  1. ผู้คนที่เข้าร่วมมือกันต้องมีความหลากหลาย
  2. ต่างมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำความคิดโดยคนอื่นในกลุ่ม
  3. กระจายอำนาจ ให้แต่ละคนได้คิดในด้านของตนอย่างมีน้ำหนักเท่าๆกัน
  4. มีกลไกการรวมความคิดแต่ละคนมาเป็นคำตอบคำตอบเดียว

ยิ่งบกพร่องในเงื่อนไขข้างต้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดความถูกต้องของกลุ่มมากเท่านั้น ฝูงชนที่คิดเห็นไปทางเดียวกันทั้งหมด ถูกครอบงำทางความคิด ให้น้ำหนักคนใดคนหนึ่งในฝูงชนมากเป็นพิเศษ และไม่มีกลไกที่จะรวบรวมความคิดของทุกคนมาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่ได้อยู่ในนิยามนี้แต่อย่างใด ที่ว่าบูชาบุคคลมักพลาดได้ บูชาฝูงชนที่เงื่อนไขข้างต้นไม่พร้อมยิ่งผิดพลาดและน่ากลัวยิ่งกว่า

สำนวนจีนที่ว่า “ช่างเครื่องหนัง 3 คน ก็แข่งกับขงเบ้งได้” จึงยังต้องการเงื่อนไขกำกับมากกว่านั้น เช่น ต้องคอยระวังการครอบงำ การกระจุกอำนาจ และกลไกการรวมความคิดที่พิกลพิการ ที่สำคัญ ก็น่าจะเปลี่ยนเป็น “ช่างทำเครื่องหนัง, คนขายหมู, พ่อค้าขายถั่ว รวมตัวกัน ก็แข่งกับขงเบ้งได้” เพื่อความหลากหลาย

ขงจื่อยังเคยกล่าวไว้อีกว่า

“วิญญูชน สมานกันดี แม้มีความต่าง”

君子和而不同

(มองตะเกียบเห็นป่าไผ่ : Post today 08/02/2558)

18
Feb
15

ตรุษจีน ครอบครัว,อาหารและสีแดง


150215_Post today

ภาพจำวันตรุษจีนของผม คงไม่ต่างจากของอาตี๋อาหมวยทั้งหลาย ที่ไม่พ้นหมูเห็ดเป็ดไก่เต็มโต๊ะ สีแดงของอั่งเปา ประทัด และของตกแต่ง ท่ามกลางบรรยากาศอากง อาม่า อาอี้ อาเจ็กรวมตัว ไปมาหาสู่กันพร้อมของติดไม้ติดมือ

วัฒนธรรมจีน ให้ความสำคัญกับการรวมตัวของครอบครัวมาก ครอบครัวที่มีลูกหลานและญาติเยอะ คือครอบครัวอุดมคติ แค่เยอะยังไม่พอ จะต้องอยู่รวมกันอย่างแน่นแฟ้น เกื้อกูลกันด้วย แต่ในอีกด้าน วัฒนธรรมจีนก็เป็นวัฒนธรรมแห่งการระหกระเหินของคนในครอบครัวเช่นกัน ในวรรณกรรมจีน และประวัติศาสตร์จีนหลายต่อหลายเรื่องนับพันปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ก็มักว่าด้วยการย้ายถิ่นไปมาเสมอ ไม่ว่า จะไปทั่วแคว้นเพื่อเผยแพร่อุดมคติการปกครอง(ขงจื่อ) เร่ร่อนตามหัวหน้าแสนดีที่เห็นคุณค่าของตน(ขงเบ้ง) จากบ้านนาเข้าเมืองหลวงสอบจอหงวนแต่ลำพัง(เฉินซื่อเหม่ย-ในเรื่องเปาบุ้นจิ้น) หรือแม้แต่ หนีตายไปทำมาหากินด้วยเสื่อผืนหมอนใบที่”เสี่ยมล้อ”(สยาม)

ดูเหมือนชาวจีนจะนิยมชีพจรลงเท้ามาตลอดประวัติศาสตร์

การจากถิ่นแต่ละครั้ง ก็ใช่จะใกล้หรือกินระยะเวลาสั้นๆ เอาเป็นว่า ขงเบ้ง ที่ต้องอพยพจากหุบเขาโงลังกั๋งอันสงบสุข ไปฝังตัวในเสฉวน ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิด ก็เป็นระยะทางพอๆกับการออกจากแม่ฮ่องสอนตอนวัยรุ่นไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่นราธิวาสก็ว่าได้

ความโหยหาความกลมเกลียว ด้วยการกลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้งบนโต๊ะที่เต็มไปด้วยกับข้าว จึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์การ”พลัดพราก” แม้ในปัจจุบัน  ชาวจีนจำนวนมหาศาลก็ยังจะต้องอพยพไปมาข้ามเมืองเพื่อเรียนหนังสือ หรือทำงานเพราะโอกาสมักอยู่ข้างนอกเสมอ จึงเป็นภาระกิจของชีวิตที่จะต้องออกไปไขว่คว้าโอกาสนั้น ช่วงที่ต้องกลับบ้านให้ได้ก็คือช่วงตรุษจีน ใครจะไปเที่ยวจีนในเมืองใหญ่ๆช่วงนี้ ต้องเตรียมรับสภาพร้านรวงปิดเล่นประทัดกันหลายวันหลายคืน เพราะลูกจ้างหมดเมือง ต่างกับเทศกาลตรุษจีนในไทยในยุคนี้ ที่กลุ่มคนเชื้อสายจีนอยู่ในเมืองตั้งแต่แรก ไม่ต้องกลับไปไหน

สำหรับอาหารการกิน ชาวจีนได้ชื่อว่าสนใจเรื่องปากท้องอย่างยิ่ง “เจี่ยะปึ่งอาบ่วย”(กินข้าวรึยัง) เป็นคำทักทายกันและกันตั้งแต่ไหนแต่ไรก่อนคำว่า “สวัสดี”(หนีห่าว) ทุกวันนี้ถ้าสนิทกับชาวจีนมากขึ้นก็สามารถทักทายในตอนเช้าว่า “กินข้าวเช้ารึยัง” ถ้าตอนสายก็ทักว่า “กินข้าวเที่ยงรึยัง” ได้ และสำหรับเทศกาลพิเศษก็จะมีของกินประจำเทศกาล โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีนจัดว่าเป็นเทศกาลกินครั้งมหึมา หมูเห็ดเป็ดไก่รวมพล อาหารคาวหวานครบชุด อาหารไหว้บรรพบุรุษซึ่งจะกลายเป็นอาหารเราในไม่ช้า จะต้องเต็มโต๊ะ มีมากกว่าจะกินกันให้หมดในมื้อเดียว จะว่าไปก็เป็นภาระกับแม่บ้านเชื้อสายจีนที่ต้องทั้งเหนื่อยเตรียม เหนื่อยกิน เหนื่อยเก็บ แต่ลึกๆก็มักเต็มไปด้วยความยินดี

ขัดแย้งกับภาพบรรยากกาศอาหารการกินเต็มโต๊ะ ประวัติศาสตร์จีนกว่า 3,000 ปี มีบันทึกเกี่ยวกับทุกขภิกภัยที่นำไปสู่ความอดอยากครั้งใหญ่กว่า 5,000 ครั้ง (ตกปีละเกือบ 2 ครั้ง!) หลายต่อหลายครั้ง ถูกบันทึกไว้ว่า “คนกินกันเอง” กบฏชาวบ้านชาวนา ทั้งหลายในประวัติศาสตร์ ไม่เคยลุกขึ้นสู้เพราะรัฐบาลโกงกิน แต่เป็นเพราะ ไม่มีอะไรจะกิน!

สูตรอาหารพิสดารทั้งหลายแหล่ทั้งปลิงทะเลอัปลักษณ์ เปลือกไม้บางชนิดถูกนำมาบดเป็นแป้งทำอาหาร ถ้านึกย้อนกลับไปเข้าใจได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความอดอยาก มากกว่าความอุดมสมบูรณ์ ทุกวันนี้ในดินแดนตอนกลางของจีน จะพบเกี๊ยวหลากรูปร่างในชื่อหลากหลาย ทั้งๆที่ทำมาจากแป้งและไส้ที่ไม่ต่างกันนัก นั่นเป็นเพราะในดินแดนจีนแม้กว้างใหญ่ แต่ก็เป็นทะเลทรายกับพื้นที่กันดารเสียส่วนมาก ที่อุดมสมบูรณ์มากพอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องประชากรจีนได้ ก็แค่ที่ราบส่วนหนึ่งทางตะวันออก ส่วนทางตะวันตกและทางใต้ แม้สมบูรณ์ทั้งแหล่งน้ำและอาหาร ก็เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน อาหารหลักที่ปลูกและต้องเก็บได้นานตลอดทั้งปีจึงมีเพียงไม่กี่ชนิด จินตนาการและศิลปะที่ปั้นแต่งแป้งเป็นรูปต่างๆ จึงพอช่วยห่อหุ้มให้วัตถุดิบทางอาหารที่มีอยู่จำกัดดูเหมือนอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา

สีแดงคือสีแห่งไฟ หนึ่งใน 5 ธาตุ ซึ่งเป็นความเชื่อทางธรรมชาติวิทยาของจีนโบราณ แต่ทั้งที่เป็นแค่ 1 ใน 5 ธาตุแล้วทำไมสีแดงคือสีที่โดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะในเทศกาลตรุษจีน มีภาพติดตาของผมอีกอย่างคือ แผนกเสื้อในสุภาพสตรีในห้างสรรพสินค้าที่จีนช่วงนี้ จะเต็มไปด้วยชุดชั้นในและกางเกงในสตรีสีแดงแขวนเต็มผืนผนัง!(ซึ่งแผนกอื่นก็เต็มไปด้วยสีแดง แต่ไม่รู้ทำไม ผมจึงติดตาแผนกนี้เป็นพิเศษ)

เทศกาลตรุษจีนอยู่ในช่วงพ้นฤดูหนาว ฤดูหนาวในศูนย์กลางของรากอารยธรรมจีนมีความหนาวเป็นความตายดีๆนี่เอง ด้วยความเชื่อในธรรมชาติเรื่องธาตุและสมดุลย์ของพลัง สีแดงจึงกลายเป็นพระเอกแทนเทพอพอลโล ภาพเด็กจีนแก้มสีลูกท้อเดินเตาะแตะอยู่กลางแดดอยู่กลางชุดหนาวหนาๆจนแขนขาตรงทื่อ คือภาพที่น่ายินดีของยุคสมัยนี้ เพราะในยุคสมัยก่อนเด็กที่รอดพ้นหนาวแรกมาได้มีไม่มาก

หากลูกหลานรอดพ้นหน้าหนาวอันโหดร้ายมาได้ เอี้ยมแดงและอั่งเปา คือสัญลักษณ์ของความมงคล เฉลิมฉลอง การปัดเป่าหายนะ รวมถึงการจุดประทัดก็คือการขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่แฝงตัวอยู่ในฤดูหนาวเช่นกัน

ความเสี่ยงต่อการพลัดพราก ความอดอยาก และการเอาชีวิตรอดจากธรรมชาติ จึงเป็นรากลึกที่แฝงในการฉลองเทศกาลตรุษจีนทุกขวบปี เพราะพลัดพรากและห่างไกลจึงโหยหาการรวมตัว เพราะเคยเห็นชีวิตที่ไม่มีจะกิน อาหารมื้อใหญ่ที่ทั้งเหนื่อยเตรียมเหนื่อยเก็บจึงเป็นสิ่งน่ายินดี เพราะเคยเห็นชีวิตที่ร่วงโรยไปง่ายๆ การมีชีวิตผ่านปีจึงมีคุณค่า คนรุ่นอากงอาม่าที่มีประสบการณ์ตรงจึงมีความผูกพันเหนียวแน่นกับเทศกาลเหล่านี้ ประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่นอาจอธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด แต่แฝงรหัสไว้ในความ”อิน”กับประเพณีในยุคนั้นๆ

ผ่านกาละและเทศะไปกับสังคม ทำให้เทศกาลตรุษจีนเต็มไปด้วยพิธีกรรมและธรรมเนียม สิ่งของและ อาหารประจำตรุษจีนถูกใส่ความหมายมงคลลงไป ซึ่งล้วนสะท้อนความคาดหวังในชีวิตที่ผ่านพ้นอีกปีของคนรุ่นก่อนหน้าผสานกับรุ่นปัจจุบัน

จริงอยู่ ใช่ว่าทุกคนในยุคก่อนจะต้องพลัดพราก อดอยาก ต้องดิ้นรน แต่บรรยากาศของยุคสมัย ก็มักเป็นประสบการณ์ร่วมส่วนหนึ่งในชีวิตมนุษย์แต่ละยุค

ในยุคที่การก้มหน้าแชทกับคนไกลตัวทำได้บ่อยกว่าเงยหน้าคุยกับคนข้างๆ หนุ่มสาวเห็นการเดินทางไปแดนไกลเป็นฝันที่จะสลัดพันธนาการจากงานประจำชั่วครู่ อาหารหลากหลายมากมายในปาร์ตี้วันศุกร์ และชีวิตที่มีสุขอนามัยที่ดี ผู้คนจึงค่อยๆผูกพันกับเทศกาลนี้ด้วยอารมณ์ต่างกับอดีต บางคนกว่าจะรู้ตัวว่าวันนี้เป็นวันตรุษจีนก็เพราะมีเสียงเตือนให้รีบกลับบ้านมาทานอาหารที่เหลือเต็ม บางคนก็เป็นเพราะความรู้สึกตื่นเต้นดีใจว่าจะได้เปิดซองอั่งเปา ขณะที่บางคนต้องตื่นตัวก่อนหน่อยเพราะมีภาระกิจหาทรัพย์ใส่ซอง (ซึ่งบางทีคนใส่ซองก็รู้ตัวช้ากว่าคนรอเปิด)

คงไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้อง”อิน”กับเทศกาลตรุษจีนด้วยอารมณ์และประสบการณ์เดียวกัน แต่ความเข้าใจความ”อิน”ของคนรุ่นก่อนในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่มีโอกาสได้อยู่ร่วมโต๊ะอาหารหรือไม่ ก็น่าจะช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวรื่นรมย์ขึ้นมาได้ในเทศกาลตรุษจีน

(มองตะเกียบเห็นป่าไผ่ : Post today 15/02/2558)

06
Oct
13

ทุกข์ของชาวนา


ในงานสัปดาห์หนังสือจีนของนานมี เมื่อประมาณปี 2536 ที่โรงแรมแม่น้ำ ผมจำคำบรรยายประกอบภาพวาดภาพหนึ่งได้อย่างติดตา เป็นกลอนของสมเด็จพระเทพฯ ทรงแปลจากกวีจีนท่านหนึ่ง

images (1)

คืนนี้นึกขึ้นได้เลยลองค้นหาดู พบทั้งต้นฉบับภาษาจีน และทั้งที่เป็นพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับกลอนบทนี้ จึงขอนำมาลงในบล็อกนี้ครับ ถือว่าเนื่องใจโอกาสเทศกาลกินเจละกันนะครับ

ทางเจด้วยจิตรู้ว่าเราเกิดมาและดำรงอยู่ด้วยการจำต้องเบียดเบียนผู้อื่นเป็นปกติ เพราะฉะนั้น ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าต่อสิ่งรอบตัวที่เราเบียดเบียน และเบียดเบียนให้น้อยลงเท่าที่ทำได้จะดีมากเลยครับ

……………………………………..

a427
เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษา อย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่า เขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวาง และลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้

เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อยหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกัน
น้ำเหงื่อยที่เรื่อแดง และนำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน

ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหม ที่จะ ลำเลิก กับใครๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคม มีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลายๆ ประเทศ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม หรือการ บริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูก จากธัญพืช ซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาล ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ ที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตร ที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจ ออกมาสะกิดใจ คนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป

หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้ เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปล ด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์ เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์

s201111910284

หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อยหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส

กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ ที่เขาจะได้เห็น ความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยาย ความรู้สึกออกเป็นบทกวี ที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้น ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร

เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพ ให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับ นำชาวนามาบรรยาย เรื่องของตน ให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง

เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคน จะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนา ก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความ สะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

1169767_201201161004031CUYJ

สิงหาคม ๒๕๓๓
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พิมพ์ครั้งแรก
ในหนังสือ มณีพลอยร้อยแสง ๒๕๓๓

……………………………………………….

29
Sep
13

ประวัติศาสตร์ของเรา


อาทิตย์ที่แล้ว ผมต้องไปอัดเทปแนะนำตัวในรายการแฟนพันธุ์แท้แห่งปี ทีมงานให้เตรียมของที่คิดว่าจะเป็นตัวแทน หรือเป็นเครื่องราง ของที่ระลึกที่แสดงความเป็นตัวตนของตัวเองติดตัวไป เป็นปัญหาหนักอกพอสมควรสำหรับผม หนึ่งเพราะไม่เคยมีเครื่องรางใดๆ และ สองโดยส่วนตัว ไม่ได้สะสมอะไรมากมาย จะมีก็แต่หนังสือ ซึ่งคงไม่ได้โดดเด่นนัก

หากว่าจะถามว่าอะไรเป็นแรงบัลดาลใจจริงๆให้ผมรักเรื่องจีนๆ คำตอบที่ผมสงสัยว่าจะใช่ที่สุดคงไม่พ้นพ่อของผมเอง แต่ความสนใจเรื่องจีนๆของผมกว่าจะเริ่ม ก็เป็นช่วงที่ท่านกำลังจะจากไปแล้ว จะว่าไปหลายครั้งจังหวะชีวิตก็เป็นแบบนี้

ผมนึกถึงกองหนังสือจีนเก่าๆของพ่อผม จำได้ว่าตอน ม.ปลาย กับช่วงมหาลัย ผมมักไปลองเปิดดู ดูด้วยความสนใจ ทั้งที่ไม่เข้าใจ แต่หลังจากได้เรียนภาษาจีนกลับไม่ได้มีโอกาสไปเปิดดูอีกเลย

พอเปิดตู้ออกมา กลิ่นหนังสือกองนี้ก็กระตุ้นความทรงจำเก่าๆก็กลับมา

กองหนังสือยี่สิบกว่าเล่ม มีตั้งแต่ พจนานุกรมแต้จิ๋ว สมุดโน๊ตจดสูตรเคมี จนถึงกลอนจีนที่พอผมจดไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งคั่นอยู่ในหนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับคนจีน

ใบจำนำตู้เย็น ลงลายมือชื่อพ่อผมแทรกอยู่ในหนังสือโรบินสัน ครูโซ่ ฉ.ภาษาจีน ทำให้ผมนึกถึงตอนผม 7-8 ขวบ นอนดูทีวีอยู่ดีๆ แล้วพ่อผมก็มายกทีวี 14 นิ้วเพื่อเอาไปจำนำ เชื่อว่าน้อยคนคงเดาความรู้สึกนั้นออก เพราะความรู้สึกของผมในจังหวะนั้น คือไม่รู้สึกอะไรเลย ทีวีไม่มีแล้ว ก็ออกไปเล่นกับเพื่อนบ้าน…. ง่ายๆ ตามภาษาเด็ก

แต่ความรู้สึกของเด็กนั้นในวันนี้ที่ผ่านเวลาไปอีกกว่า 20 ปี ที่อยากรู้ความรู้สึกของพ่อที่ต้องยกทีวีที่ลูกตัวเองดูอยู่ในวันนั้น มันไม่ง่ายนัก

แล้วก็นึกถึงที่แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า ต้องไปโรงจำนำแทนพ่อผมอยู่บางครั้งเพราะพ่อผมไม่อยากให้ใครเห็น(แต่อย่างน้อยตั๋วจำนำใบนี้ ก็เป็นพ่อผมไปเอง)

พลิกดูอีกเล่ม เป็นภาพสเก็ตซ์ที่พ่อผมสเก็ตซ์ไว้ มีทั้งภาพวาดตามภาพจากพงศวดารจีน และภาพนก ผีเสื้อ….สัตว์ต่างๆในศิลปภาพพู่กันจีน

พ่อผมวาดภาพพวกนี้ตอนอายุเท่าไหร่ ตอนนั้นอายุมากหรือน้อยกว่าผมในตอนนี้ คำถามค่อยๆผุดขึ้นมา ลงเอยที่คำที่พ่อผมเคยพูดว่า “ขยันอ่านหนังสือหรือออกไปเล่นบ้าง อย่ามัวแต่มานั่่งๆนอนๆวาดรูป” ต่อด้วยการบ้านภาษาจีนที่ผมเขียนเล่าถึงพ่อผมในการบ้านว่า “ในที่สุดผมก็ชอบวาดรูปอยู่ดี เพราะเด็กๆย่อมเรียนจากสิ่งที่พ่อแม่ทำ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่พ่อแม่พูด พ่อผมวาดรูปให้ผมเห็น แถมวาดถึงดึกดื่น ผมจะไม่ชอบวาดรูปได้อย่างไร” ชีวิตของพ่อผมหยุดไป แต่เหมือนผมยังได้คุยกับพ่อผมอยู่เนืองๆ

สิ่งที่ผมเตรียมไปไม่ได้ใช้ในรายการครับ อาจด้วยความเร่งรีบ หรือโปรดิวเซอร์เปลี่ยนแนวคิด
อย่างไรก็ตาม มันทำให้ผมรู้สึกถึงคำว่า “เป้าหมายอาจไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุด แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างทางไปสู่จุดหมายต่างหาก” การหาครั้งนี้ผมกลับได้ย้อนนึกถึงความรู้สึกต่างๆมากมาย

 

ถ้าไม่เคยรู้สึกถึงความขัดสนเลย จะขยายไปเข้าใจความรู้สึกของกบฎชาวนา หรือเด็กน้อยจูฉงปา ได้อย่างไร
ถ้าไม่เคยเข้าใจความรู้สึกต้อยต่ำ พ่ายแพ้ และโดนหยามเหยียด จะขยายไปเข้าใจความรู้สึกของหานซิ่นวัยหนุ่ม หรือเซี่ยงอวี่ที่ริมน้ำอูเจียง ได้อย่างไร
แล้วถ้าไม่เคยรู้สึกถึงความยากลำบาก จะขยายไปเข้าใจถึงความหอมหวานของผู้ชนะด้วยการฝ่าฟันในอดีตได้อย่างไร

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เพียงคุณหันไปคุยกับพ่อแม่เมื่อมีโอกาส คุณก็จะได้พบกับประวัติศาสตร์ของตัวเอง

06
Jul
13

แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน – ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ในวันเดียว


ธ.ค. 2006
ระหว่างผมเตรียมตัวไปเรียนภาษาที่ปักกิ่ง “ฮั่น”โทรมาถามผมว่า สนใจจะเข้าแข่งแฟนพันธุ์แท้แผ่นดินมังกรหรือไม่ ผมไม่ลังเลที่จะตอบรับเพราะต้องการ”เอามันส์”ก่อนจากไทยไปนับปี  ติดอยู่มันกระชั้นชิดกับเวลาเปิดเทอมที่ปักกิ่ง หลังจากรู้เวลาแน่นอน ก็ยิ่งรู้สึกสนุก เพราะเทปแฟนพันธุ์แท้แผ่นดินมังกร ซึ่งเป็นเทปแรกของปี 2007 จะออกอากาศในวันเวลาที่เท้าผมแตะแผ่นดินมังกรไปแล้ว ถือเป็นการฝากเงาไว้ก่อนจากประเทศไทย

ผู้เข้าแข่งขันครั้งนั้น ก็คือ พี่เหล่าตั้ง พี่บ้วย อ๊าท(ชัชวนันท์) อี้(ตงฟาง) และพิธีกรในครั้งนั้นคุณอี้ (แทนคุณ) ก็ล้วนเป็นผู้ที่รักและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจีนทั้งสิ้น ถ้านับกันอย่างจริงจังผมอายุน้อยสุดในบรรดาผู้เข้าแข่งขัน แต่ก็จัดเป็นรุ่นหนุ่มกลุ่มเดียวกับ อ๊าทและอี้(ตงฟาง) บรรยากาศพูดคุยกันอย่างอบอุ่นในห้องแต่งตัว แม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นเวลาที่ผมจดจำได้ถึงทุกวันนี้

การแข่งขันผ่านไปอย่างสนุกสนาน คุณอ๊าทได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ และผมผ่านไปได้ถึงรอบ 3 คน แม้ผ่านไปไม่ถึงรอบสุดท้าย แต่การทำให้ครอบครัวได้มีอีเวนท์เล็กๆ การได้พบคนคอเดียวกัน การได้มีโอกาสสื่อสารเรื่องราวที่เราชื่นชอบให้แก่ผู้คน มันเป็นใจความของความสนุกมากกว่าเรื่องตำแหน่งหรือรางวัล และมันก็กลายเป็นเรื่องเล่าหนึ่งในชีวิตผม

ม.ค. 2007 – ก.ค. 2011
ผมผ่านการเรียนแล้วต่อด้วยการทำงานที่ปักกิ่งรวม 2 ปี แล้วกลับมาทำงานด้านวิชาชีพที่ผมเรียนมาอยู่เกือบ 4 ปี แผ่นดินจีนผ่านทั้งการจัดโอลิมปิก 2008 และ World Expo 2010 แผ่นดินไทยเปลี่ยนนายกกัน 5-6 คน

แน่นอนผมยังไม่ทิ้งความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับจีน และได้เปิด Blog, Fanpage ในชื่อ ONG CHINA เพื่อเผยแพร่ในสิ่งน่าสนใจเกี่ยวกับจีนในด้านต่างๆ โดยเริ่มต้นด้วยการแปลรายการ “อี้จงเทียน พิเคราะห์สามก๊ก” หลังจากนั้นมาก็ได้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่สนใจเรื่องเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็รวมถึงพวกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ด้วย

Episode01

ต.ค. 2011 – 4 มิ.ย. 2013
แล้วผมก็ได้คำทักทายจากคุณอ๊าทแฟนพันธุ์แท้แผ่นดินมังกร และสามก๊ก ในนามของแอดมิน FanSamkok เราทักทายแลกเปลี่ยนความเห็นกันมาตามภาษาคนคอเดียวกัน จนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน คำทักทายอีกครั้งของคุณอ๊าทคือคำถามที่ว่าผมสนใจจะไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีนหรือเปล่า ผมตอบตกลงโดยไม่ต้องคิดอะไรมากนัก ทั้งที่การงานรุมเร้าจนไม่ค่อยได้อัพเดทอะไรในแฟนเพจมาเป็นเดือนๆ แต่เมื่อคิดถึงความสนุก การได้มีโอกาสดีๆแบบเดิมที่จะได้เจอคนคอเดียวกัน ฯลฯ ผมจึงตอบตกลง ภายหลังค่อยรู้ว่าคุณอ๊าทไม่ได้ร่วมเข้าแข่งขันเพราะคุณอ๊าทเป็นนางงามจักรวาลไปแล้ว! (มุกตลกเปรียบเปรยของคุณอ๊าทนะครับ อย่ายึดติดตามตัวอักษร)

17 มิ.ย. 2013
การแข่งขันกระชั้นกว่าคราวที่แล้วมาก วันจันทร์สัมภาษณ์ครั้งแรก วันอังคารครั้งที่สอง แล้วแข่งในวันพฤหัสเลย นับจากการสัมภาษณ์ครั้งแรกถึงเริ่มแข่งก็…. 4 วัน ครับ T-T ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงอาทิตย์ก่อนหน้านั้นผมไม่ว่างที่จะเข้าสัมภาษณ์ในครั้งแรกตามเวลาที่ทีมงานนัดด้วย แต่ก็ดีครับไม่ต้องเกร็งนาน

18 มิ.ย. 2013 -19.00น.
พอถึงคราวประชุมรวมผู้เข้าแข่งขัน ผมกลายเป็นผู้อาวุโสสุดซะงั้น พลิกกลับตาลปัตรกับ 6 ปีที่แล้ว ที่สำคัญอายุก็ไม่ได้ต่างกันน้อยๆ ต่างกันเป็นสิบปี แต่ต้องยอมรับเลยครับว่าน้องๆทุกคนไม่เพียงมีใจรักในประวัติศาสตร์ราชวงศ์จีนมาก แล้วยังมีความรู้ความสามารถไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน ไม่เว้นแม้กระทั้งน้องเจมส์(ศุภภากร)ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น ซึ่งย้อนไปตอนผมอายุเท่าน้อง ตอนเวลาว่างผมยังนั่งเล่นมาริโอ้เช้าเย็นอยู่เลย ซึ่งความสามารถของน้องเจมส์ แสดงให้เห็นถึงความมีใจรักและความสามารถอย่างยิ่งยวดตั้งแต่ยังเด็ก

ไม่ใช่แค่เจมส์เท่านั้น ธัญ แบ็งค์ อั๋น แม้เป็นนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับเรื่องจีนมาบ้าง แต่ก็มีทั้งความเก่งทั้งกว้างและลึกกว่าที่นักศึกษาทั่วไปมีกันทุกคน เรียกได้ว่า แม้ในเกมส์จะมีตำแหน่งผู้เข้ารอบคอยจัดอันดับพวกเรา แต่นอกเวทีทุกคนสื่อสารและเปลี่ยนความรู้ความเห็นได้เสมอกันหมด เห็นได้ชัดว่าทุกคนเข้ามาตรงจุดนี้ได้ถือว่าทุกคนมีดี  มีดีที่ความรัก มีดีที่ความทุ่มเทให้กับเรื่องราวที่ตัวเองชอบ และมีดีที่ได้ครูดี ซึ่งก็คือบรรดาผู้ถ่ายทอดเรื่องราวจีนๆให้กับสังคมไทยทั้งที่ผ่านทางหนังสือ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ และผมเชื่อเช่นกันว่าน้องๆเหล่านี้ก็จะเป็นครูและแรงบัลดาลใจที่ดีให้กับผู้ที่สนใจเรื่องราวจีนๆต่อไปได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน

20 มิ.ย. 2013 – 18.00น.-23.00น.
ความรู้ความสามารถของทุกคนบนเวที ผมพูดออกมาเป็นสำนวนจีนได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้เลยครับว่า “台上一分钟,台下十年功.” แปลว่า “บนเวทีหนึ่งนาทีคือผลจากน้ำพักน้ำแรงนับสิบปี” ทุกคนใช้น้ำพักน้ำแรงนับสิบปีของตนกลั่นออกมาเพื่อแข่งขันกัน (ตามสำนวนนี้ถือว่าผมโชคดีกว่าน้องๆที่เกิดมาก่อนเป็นสิบปี เลยได้อยู่บนเวทีได้นานกว่าหลายนาที) และผลของการแข่งขันผมก็อยากบอกกับน้องๆเป็นวลีภาษาอังกฤษว่า “What you are I once was. What I am you will become.”(ถ้ายังไม่เลิกไปกลางครัน)

ตำแหน่งและรางวัลที่ผมได้ ได้มาจากเงื่อนไขและกติกาของการแข่งขัน ไม่ได้จากการมาคัดเลือกไล่เลียงความสามารถเป็นตัวเลขเป็นอันดับ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ครับว่านี่เป็นรางวัลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างน้อยที่สุดก็เหมือนสปอรท์ไลท์ดวงหนึ่งที่ส่องมาที่ผม เพราะฉะนั้นผมจะใช้โอกาสนี้สานต่อเจตนารมณ์ของผมให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่สนใจเรื่องจีนให้ดียิ่งๆขึ้นไป ส่วนตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีนในชีวิตจริง เป็นของเราทุกคนที่รักและศึกษาเรื่องราวราชวงศ์จีน โดยของรางวัลมิใช่ข้าวของเงินทอง แต่คือสิ่งที่เราเก็บเกี่ยวมาสอนชีวิต มาสร้างเสริมเป็นบทเรียนเป็นประสบการณ์ของตน ซึ่งทุกคนคงรู้ได้ด้วยตัวเองดีครับ

ไม่มีฮั่นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมก็ไม่ได้แข่งแฟนพันธุ์แท้แผ่นดินมังกร
ไม่ได้ไปเรียนที่ปักกิ่ง ก็ไม่ได้ดูรายการอี้จงเทียนพิเคราะห์สามก๊ก
ไม่ได้แปลรายการอี้จงเทียนพิเคราะห์สามก๊ก ก็ไม่ได้ทำแฟนเพจ ทำบล็อก ONG CHINA
ไม่ได้ทำแฟนเพจทำบล็อก ONG CHINA คงไม่ได้กลับมาเจอกับอ๊าทอีก
ไม่ได้กลับมาเจอกับอ๊าทอีก ก็ไม่ได้โอกาสลงแข่งแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน
ไม่ได้ลงแข่ง ก็ไม่ได้ตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ในวันนี้

แน่นอนครับก่อนอื่นต้องมีรายการแฟนพันธุ์แท้ก่อนด้วย….

พวกเราทุกคนต่างค่อยๆสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเราเองขึ้นมา สิ่งที่เราทำได้ตั้งแต่วันนี้คือประวัติศาสตร์ของเราในวันหน้า

ขอขอบคุณทุกๆคนทั้งที่ได้เอ่ยถึงในบทความนี้ และรวมถึงทุกกำลังใจทั้งจากครอบครัว เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ และขอคารวะขอบคุณพี่อั๋นและทีมงานทุกท่านด้วยใจจริงครับ




ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกของการแบ่งปันและเรียนรู้ครับ ถ้าถูกใจ Subscribe ได้เลยครับ

30 เรื่องล่าสุด

Enter your email address to subscribe to this blog and receive notifications of new posts by email.

Join 52 other subscribers

Top Clicks

  • None

Flickr Photos